ตำนาน ศาลเจ้าพ่อประตูผา

มีเรื่องเล่าถึงตำนานความศักดิ์สิทธิ์และวีรกรรมผู้กล้าของยอดขุนพลนักรบแห่งเมืองลำปาง ผู้พลีชีพขับไล่ศัตรูพม่าด้วยความองอาจทรนง และนานมาแล้วที่เรื่องราวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ถูกค้นพบที่นี่ ไขปริศนาความลับแห่งประตูผา ดินแดนที่ได้ชื่อว่า ป่าศักดิ์สิทธิ์ ดอยวิเศษเทือกเขาสูงตระหง่านกั้นดินแดนพื้นที่ระหว่างอำเภอเมืองและอำเภองาวจังหวัดลำปาง ทอดตัวเป็นแนวยาวคล้ายกับเป็นเสมือนกำแพงขนาดมหึมาที่ปิดงำปริศนาความลับไว้ เนิ่นนานหลายร้อยปีชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ของประตูผายังคงแผ่กระจายออก ไปด้วยในฐานะที่ดินแดนแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่สร้างวีรกรรมของเจ้าพ่อประตูผาหรือพญามือเหล็ก ยอดขุนพลเมืองเขลางค์นครในการพลีชีพขับไล่ศัตรูพม่าที่รุกรานแผ่นดิน ในตำนานเรื่องเล่าได้กล่าวถึงความกล้าหาญของเจ้าพ่อประตูผาว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2251 – 2275 ได้มีชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านต้า ชุมชนหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับประตูผา ชายผู้นี้ได้เล่าเรียนวิชาอาคมอยู่กับเจ้าอาวาสวัดนายาง จนมีความสามารถใช้แขนเป็นกำบังแทนโล่ห์ได้ ชาวบ้านต่าง ๆ ในหมู่บ้านขนานนามท่านว่า หนานข้อมือเหล็ก ต่อมาท่านได้เป็นทหารเอกของท้าวลิ้นก่าน เจ้าเมืองผู้ครองนครเขลางค์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แคว้นล้านนาไทยกับนครเขลางค์ถูกทัพพม่าโจมตี ท้าวลิ้นก่านมีกำลังน้อยกว่าจึงสู้ไม่ได้และได้หนีมาตั้งหลักอยู่ที่ดอย ประตูผา และมอบหมายให้ขุนนางทั้งสี่คือ แสนเทพ,แสนหนังสือ,แสนบุญเรือนและจเรน้อย ทำหน้าที่ดูแลบ้านเมืองแทน แต่ขุนนางเหล่านั้นกลับไม่ได้ดูแลบ้านเมืองคอยเฝ้าแต่จะแย่งกันเป็นใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าอธิการวัดนายาง จึงได้เกณฑ์ไพล่พลชาวบ้านออกมาต่อสู้กับพม่าเพื่อกอบกู้เขลางค์นคร แต่ไม่สำเร็จพม่าจึงได้ฆ่าขุนนางเหลือแต่จเรน้อยที่หนีรอดไปสมทบกับกำลังของ ท้าวลิ้นก่านที่ดอยประตูผา ทหารพม่าได้ไล่ติดตามมาทัน พญามือเหล็กจึงได้ให้จเรน้อยนำท้าวลิ้นก่านไปหลบอยู่ในถ้ำ ส่วนตนเองถือดาบขวางเส้นทางเอาไว้และได้ต่อสู้กับทหารพม่าจนดาบหัก ในที่สุดพญามือเหล็กได้อ่อนแรงลงจึงเอนกายพิงหน้าผาขณะที่ในมือสองข้างยัง ถือดาบอย่างสง่าและสิ้นใจตายในที่สุด วีรกรรมความหาญกล้าดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการตั้งศาลเจ้าพ่อประตูผาขึ้น เพื่อระลึกถึงคุณความดีของวีรบุรุษนักรบผู้พลีชีพเพื่อปกป้องบ้านเมืองและ ยังเป็นที่สักการะกราบไหว้ของลูกหลานชาวลำปางและผู้ที่เดินทางผ่านไปมาใน บริเวณนี้ เครดิต : [เล่าเรื่องรัฐฉานกับล้านนาและล้านช้าง ในสยามประเทศ](https://www.facebook.com/groups/1303262183134423/?ref=group_header)

แบ่งปัน